January 31, 2012

เผยร่างผังเมือง กทม. ฉบับใหม่2555-



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร

           เผยร่างผังเมือง ส่งผลกระทบในการพัฒนาเมืองในอนาคต จำกัดการสร้างอาคาร กลายเป็นการขยายเมืองไม่มีที่สิ้นสุด ด้านนักวิชาการออกมาให้ความเห็นในการย้ายเมือง ชี้จะย้ายไม่ย้ายควรรีบทำ ดีกว่ารอให้น้ำท่วมก่อน

           จากการดำเนินการเสวนาวิชาการเรื่อง "ราคาค่าก่อสร้าง อัตราผลตอบแทน ผังเมืองและราคาประเมินราชการ" เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่่ผ่านมา ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้เชิญ ผศ.อัศวิน พิชญโยธิน  ร่วมวิเคราะห์ผังเมืองกรุงเทพฯ ที่กำลังร่างกันอยู่ในขณะนี้ว่า  ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2549 - 2554 ได้หมดอายุลงไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และได้รับการต่ออายุ 1 ปี เนื่องจากยังร่างฉบับใหม่ไม่เสร็จ

           ทั้งนี้ ร่างผังเมืองฉบับล่าสุดได้สร้างข้อจำกัดในการก่อสร้างอาคารมากมาย ซึ่งถ้าหากจะต้องใช้จริง ๆ จะส่งผลกระทบต่อเจ้าของที่ดิน และนักลงทุนอย่างแน่นอน ที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนทั่วไปที่ไม่อาจะมีที่อยู่อาศัยใกล้เมือง ทำให้คนกรุงเทพฯ ต้องออกไปอยู่นอกเขต ซึ่งเป็นการสร้างปัญหาให้กับการขยายเมืองออกสู่ชนบท และทำลายพื้นที่สีเขียว

           โดยร่างผังเมืองได้กำหนดไว้ว่า ในเขตตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางแค(บางส่วน) สายไหม คลองสามวา(บางส่วน) มีนบุรี(บางส่วน) สะพานสูง(บางส่วน) หนองจอก(บางส่วน) ได้เปลี่ยนแปลงความสูงในการสร้างอาคารจากเดิมคือ ไม่เกิน 23 เมตร เปลี่ยนเป็น 12 เมตร ส่วนทางด้านในเขตตัวเมืองนั้น ต่อไปนี้ห้ามสร้างอาคารที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่เกินกว่า 2,000 ตารางเมตร ส่วนพื้นที่ วังทองหลาง ลาดพร้าว บึงกุ่ม บางเขน และบางเขตอื่น ๆ ร่างผังเมืองได้กำหนดให้ก่อนสร้างอาคารขนาด  2,000-4,999 ตารางเมตร และต้องตั้งอยู่บนถนนที่มีเขตทางเกินกว่า 16 เมตร ทั้งที่ปัจจุบันกำหนดไว้เพียง 10 เมตร  ส่วนอาคารขนาดใหญ่กว่านี้ห้ามสร้างอย่างเด็ดขาด

           นอกจากนี้ในเขตที่อาศัยหนาแน่นมากใจกลางเมือง ร่างผังเมืองได้กำหนดไว้ว่า ถ้าจะสร้างอาคารเกิน 10,000 ตารางเมตรได้นั้น จะต้องสร้างอยู่บนถนนซอยที่มีความกว้างเกิน 16 เมตร ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันกำหนดให้สร้างได้หากที่ดินติดถนนแปลงนั้น  ที่มีความกว้างเพียง 6 เมตร

           ดังนั้นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และไม่ได้ศึกษาผังเมืองให้ดี ก็เท่ากับว่า ใจกลางเมืองอาจจะไม่สามารถสร้างอะไรได้เลย และต้องพัฒนากระจายไปสร้างนอกเมือง ซึ่งจะทำให้ปัญหาจราจรติดขัดกระจายวงกว้างไปสู่นอกเมือง และเป็นการขยายเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และที่สำคัญผังเมืองดังกล่าวยังไม่ได้วางแผนเกี่ยวกับน้ำท่วม การสร้างเขื่อนกันน้ำท่วม หรือสร้างพื้นที่น้ำหลาก ฯลฯ ซึ่งจากร่างผังเมืองดังกล่าวต้องเวนคืนที่ดินอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังไม่สอดคล้องต่อแผนพัฒนาสาธารณูปโภคของกิจการไฟฟ้า ประปา ทางด่วน ระบบขนส่งมวลชน ระบบรถโดยสารประจำทาง เป็นต้น

           จะเห็นได้ว่าจากร่างผังเมืองดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองในอนาคต ซึ่งจากประเด็นนี้ทำให้หลายคนคิดว่า "การย้ายเมืองหลวง" อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แก้ปัญหาดังกล่าว อีกทั้งยังมี ส.ส. พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติศึกษาการย้ายเมืองหลวง ไปที่ จ.นครนายก หรือ จ.เพชรบุรี เพื่อหนีน้ำท่วม

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้มีนักวิชาการออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งสนับสนุนและไม่สนับสนุนในการย้ายเมืองหลวง อาทิ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอิสระ ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี, รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล นักวิชาการหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารโรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี

           โดย รศ.ศรีศักร นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี กล่าวว่า การย้ายเมืองหลวงในครั้งนี้มีความไปได้ แต่ถ้าจะย้ายเมืองหลวงไป จ.นครนายกนั้น เป็นเรื่องที่ต้องคิดใหม่ เพราะเท่าที่ผ่านมา นครนายกก็เป็นจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมมาแล้ว ทั้งนี้ถ้าหากไม่มีการย้ายเมืองหลวง ตนก็ขอแนะนำให้เอาแผนผังสมัยรัชกาลที่ 5 มาทบทวนเรื่องคูคลองระบายน้ำใหม่ จากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ไม่ได้เป็นความผิดของใคร แต่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการน้ำเป็นสำคัญ น้ำที่ไหลมาทางทิศตะวันออกไหลลงสู่ทะเลไม่สะดวกเพราะติดนิคมอุตสาหกรรม แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการต่อคลองเพื่อให้น้ำไหล น้ำหลากลงมาตามธรรมชาติ

           ส่วนทางด้านตะวันตกนั้น เป็นพื้นที่ปลูกข้าวต้องการมีการเก็บรักษาพื้นที่ส่วนนั้นไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนเราเห็นความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าการใช้ชีวิตของคน ในอดีตเราต่างก็ประสบภาวะน้ำท่วมกันมาแล้ว แต่ก็สามารถผ่านพ้นมันมาจนได้ ทั้งนี้ ถ้าจำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงจริง ๆ จังหวัดที่น่าจะเลือกเป็นเมืองหลวง นั้นก็คือ จังหวัดระยอง หรือชลบุรี เพราะน้ำท่วมไม่ถึง ส่วนทาง กทม. ก็ปล่อยให้เป็นเมืองท่าใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงถ้าต้องการจะรักษา กทม.ไว้ ก็คงทำไม่ได้ เพราะว่า สภาพภูมิอากาศแปรปรวนหมด เกิดมรสุมมาบ่อยขึ้น แนวโน้มน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งตามการพยากรณ์บอกว่า อีก 50 ปีก็อยู่ไม่ได้แล้ว หรือทั้งภาคกลางจมน้ำหมด

           ทางด้าน รศ.ดร.ธนวัฒน์ แสดงความเห็นว่า ไม่ควรย้ายเมืองหลวง เพราะจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก อีกทั้งกรุงเทพฯ เป็นเมืองเก่าที่ก่อตั้งมากกว่า 200  ปี สำหรับแนวคิดในการแก้ปัญหา คือ การบีบเมืองหลวงไม่ให้โต แต่ไปโตที่เมืองบริวาร ที่อยู่ห่างจาก กทม.ประมาณ 100 กิโลเมตร มีด้วยกัน 4 เมือง คือ สุพรรณบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา และราชบุรี และใช้รถไฟความเร็วสูง 200 กม./ชม. สำหรับคนที่อยู่เมืองบริวารใช้เวลาโดยสารมาทำงานใน กทม. ประมาณ 30 นาที ส่วนประโยชน์อีกประการ คือ ศูนย์อำนาจจะกระจายออกไป เช่น จ.สุพรรณบุรี อาจจะเป็นเมืองการศึกษา อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรทิ้งเมืองหลวง เพื่อเป็นเพียงการเตรียมการป้องกันน้ำท่วมที่อาจจะมาถึง แต่ต้องมีระบบป้องกันน้ำท่วมแบบครบวงจร เช่น  ซุปเปอร์เอ็กซเพรส ฟลัดเวย์ (Super express Floodway) เส้นทางด่วนพิเศษสำหรับน้ำท่วมไหลหลาก

          ขณะที่ ดร.อาจอง ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดที่เสนอการย้ายเมืองหลวงว่า ตนพูดมานานแล้วว่า กทม. จะถูกน้ำทะเลท่วม เพราะแผ่นดินทรุดตัว ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าหากเมื่อไรที่น้ำทะเลสูงถึง 7 เมตร กทม. นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี (บางพื้นที่) และลพบุรี (บางพื้นที่) ต้องไม่รอดแน่  เพราะปีหน้าจะมีน้ำจากทางเหนือมามากขึ้น เนื่องจากภาวะโลกร้อน น้ำทะเลระเหย น้ำแข็งละลายที่ขั้วโลกเหนือไหลลงสู่ทะเล

           ส่วนการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการย้ายเมืองหลวง ดร.อาจอง แนะนำว่า ควรหาพื้นที่ที่จะรอดพ้นภาวะน้ำท่วม ซึ่งคงจะต้องมีความสูงประมาณ 100 เมตร จากระดับน้ำทะเล และไม่มีรอยเลื่อนของเปลือกโลก ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ทางภาคเหนือ เพราะมีรอยเลื่อนมาก ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีรอยเลื่อน คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนเหนือ และจังหวัดทางภาคใต้ อาทิ ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ และประการสำคัญที่สุด คือจะต้องเลือกจังหวัดที่ไม่มีแผ่นดินไหวด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าหากทางรัฐบาลจะย้ายหรือไม่ย้ายเมืองหลวง คงจะต้องรีบตัดสินใจในเร็ววันนี้ เพราะว่าดีกว่ารอให้น้ำท่วมแล้วค่อยดำเนินการ