August 24, 2012

จุฬาฯแนะประชาชนย่านพื้นที่รับน้ำในกทม. รีบถมที่ก่อนผังเมืองใหม่บังคับใช้!




ผู้ทรงคุณวุฒิภาควิชาเคหการ จุฬาฯ แนะประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่รับน้ำ ตามผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ ที่กำลังจะประกาศใช้ ต้องรีบถมที่ก่อนกฎหมายบังคับ มิเช่นนั้นหมดสิทธิ์ถมแน่ ชี้ผังเมืองใหม่กระทบหนัก หลายพื้นที่ใช้งานแทบไม่ได้ ย่านถนน “รามอินทรา-สายไหม-สะพานควาย-อนุสาวรีย์” กระอัก เชื่ออาคารสูงเดิมได้รับประโยชน์เต็มๆ ขยับค่าเช่าเพิ่มได้ 30-50% ด้านจุฬาฯ ยื่นคำร้องค้านเหตุกระทบแผนพัฒนาที่ดินจุฬาคอมเพล็กซ์สูง 30 ชั้นล้มแน่ ด้าน กทม.บอกปิดรับคำร้องแล้ว ใครไม่ยื่นแปลว่ายอมรับผังเมืองใหม่ กทม.
     
       ผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้อย่างช้าไม่เกินกลางเดือนพฤษภาคมปี 2556 ปัจจุบันได้ดำเนินงานมาเกินครึ่งทางแล้ว โดยผ่านขั้นตอนการรับคำร้องจากประชาชนสู่ขั้นตอนพิจารณาคำร้อง
     
       อย่างไรก็ดี ผังเมืองรวมฉบับนี้มีประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันในแวดวงนักวิชาการและกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ถึงรายละเอียด ข้อกำหนดในการใช้พื้นที่ โดยเฉพาะการกำหนดขนาดถนนให้กว้างขึ้น จนบางพื้นที่ไม่สามารถพัฒนาเป็นอาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงานได้
     
       ดังนั้น หากผังเมืองรวม กทม.ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามที่มีการร้องขอไปก็จะกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และความเป็นอยู่ประชาชนในอนาคตอย่างแน่นอน
     
       “กทม.เปิดรับคำร้องถึงวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมาเท่านั้น หากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่ไปยื่นคำร้องก็ต้องปฏิบัติตามที่ร่างผังเมือง กทม.ฉบับใหม่ได้กำหนดไว้ เพราะถือว่าเจ้าของที่ดินไม่ศึกษารายละเอียดของผังเมืองเอง” แหล่งข่าวจากสำนักผังเมือง กทม.ระบุ
     
       ส่วนคำร้องที่มีการยื่นมานั้น สรุปได้ 2 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1. ประเด็นเรื่องแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน อาทิ ขอเปลี่ยนแปลงสีในผังเมืองรวมให้เข้มข้นขึ้น หรือให้เบาบางลง, ขอแก้ไขข้อกำหนดให้สามารถสร้างอาคารประเภทต่างๆ และขนาดต่างๆ ได้ 2. ผลกระทบของถนนตามแผนผังโครงการคมนาคมและขนส่ง เพราะเจ้าของที่ดินเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากแนวเวนคืนที่ในอนาคต เป็นต้น
     
       5 พื้นที่หลักเปลี่ยนการใช้กระทบภาพรวมกทม.
     
     
       ม.ร.ว.เปรมศิริ เกษมสันต์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผังเมืองรวมฉบับใหม่นี้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินทั้งสิ้น 34 บริเวณ แต่มีเพียง 5 พื้นที่ที่ส่งผลต่อภาพรวมของ กทม. ประกอบด้วย
     
       1. บริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ได้มีการเพิ่มความเข้มข้นในการพัฒนาจากสีเหลืองเป็นสีส้มและสีแดงบางส่วน
       2. ศูนย์ชุมชนมีนบุรี พื้นที่ตามแนวสายทางรถไฟฟ้า 2 สาย มีการเปลี่ยนแปลงแผนผังตามตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้า เพื่อรองรับกิจกรรมพาณิชยกรรม เพิ่มความเข้มข้นในการพัฒนา
       3. พื้นที่บริเวณย่านบางกะปิและย่านลาดกระบัง (Airport Link) ในส่วนของพื้นที่โดยรอบสถานีที่มีการก่อสร้างแล้ว และปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม แต่มีความเข้มข้นแปรผังตามศักยภาพของที่ตั้ง และสภาพทางภูมิประเทศ
       4. เขตจอมทอง ที่ตั้งศูนย์ตากสินเดิมที่มีการยกเลิก จึงลดความเข้มข้นของการพัฒนาลง
       5. เขตบางขุนเทียนฝั่งใต้สุด เป็นพื้นที่รองรับการป้องกันน้ำท่วมและการกัดเซาะจากน้ำทะเล จึงเปลี่ยนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบท และการเกษตรกรรมแทน
     
       ในการปรับเปลี่ยนผังเมืองรวมครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่สำนักผังเมืองได้ประเมินผลผังเดิม พ.ศ. 2549 พบว่า สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนโดยภาครัฐทำให้เมืองมีความพร้อมในการพัฒนาเพิ่มขึ้นหลายบริเวณ รวมถึงผัง กทม.ใหม่จะพิจารณาถึงด้านกฎหมาย หรือข้อกำหนดบางส่วน ที่ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ รวมถึงพื้นที่บางแห่งได้มีระบบขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้นในหลายบริเวณ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อมของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป และส่งผลให้เกิดการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     
       “ผังเมืองฉบับใหม่ จะมีผลต่อประชาชนทั้งในแง่ของผู้อยู่อาศัยและเจ้าของที่ดิน จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนเจ้าของที่ดินจะสามารถพัฒนาที่ดินได้มากขึ้น เพราะมีระบบขนส่งมวลชน และโครงสร้างพื้นฐานเข้าถึง แม้ที่ดินบางแปลงจะลดความเข้มข้นลง แต่เป็นการสร้างความยั่งยืนในการพัฒนา ” ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. กล่าว
     
       ชี้ผังเมืองไม่เอื้อประชาชน กระทบอ่วม!
     
     
       ขณะที่ ผศ.อัศวิน พิชญโยธิน อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ภาพรวมของผังเมืองรวม กทม.ฉบับนี้หากยังไม่มีการแก้ไขว่า จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ และความเป็นอยู่ประชาชนเป็นอย่างมาก
     
       “ผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นไปในทิศทางที่จากผังเดิมพื้นที่ใช้งานจะสามารถสร้างได้ แต่ผังใหม่กลับสร้างไม่ได้ โดยเฉพาะอาคารพาณิชย์ สำนักงาน ในตัวเมืองเกือบไม่ได้เลย สืบเนื่องมาจากความกว้างของถนนที่ต้องวัดจากปากซอยถึงก้นซอย”
     
       ตัวอย่างเช่น ซอยรามอินทราฝั่งเหนือ ถึงถนนสายไหม กำหนดว่าถ้าสร้างอาคารพักอาศัยตั้งแต่ 1,000-1,999 ตารางเมตร พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ย.3 สีเหลือง จะต้องสร้างบนถนนกว้างถึง 30 เมตร นับจากปากซอยถึงก้นซอย ทั้งนี้เป็นระยะทางที่ยาวมาก และในบริเวณนั้นมีถนนที่กว้างเพียง 6-10 เมตรเท่านั้น หากเป็นตามที่กำหนดก็ไม่สามารถสร้างได้เลย เพราะการจะไปขยายถนนตลอดทั้งสายเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ จึงกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถสร้างได้ในที่สุด และเชื่อว่าประชาชน หรือผู้ถือครองพื้นที่บริเวณนั้นไม่ทราบถึงผลที่จะตามมา หรือไม่ได้ศึกษา จนอาจไม่ได้ยื่นคำร้อง ทำให้รู้ตัวอีกทีก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว, เดิมแถวลาดพร้าวบางส่วน ถนนเพียง 10 เมตรก็สร้างอาคารได้ 9,999 ตารางเมตร แต่ผังใหม่ต้อง 30 เมตรถึงจะได้
     
       บริเวณพื้นที่สีเหลืองมีประมาณ 120 บริเวณ และกว่า 70 บริเวณ ประสบปัญหาเรื่องขนาดของถนน, บริเวณสะพานควาย ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนต้องกว้างเกิน 30 เมตรตลอดสาย จึงจะสร้างสำนักงานขนาดใหญ่ได้ แต่เมื่อสำรวจพบว่าบริเวณบางส่วนของสายนี้กลับมีถนนกว้างเพียง 28 เมตร จึงไม่สามารถสร้างสำนักงานขนาดใหญ่ได้เลยตลอดสาย แต่สร้างที่อยู่อาศัยได้
     
       ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ใน กทม.ไม่สามารถสร้างอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้เลย เนื่องจากข้อกำหนดของความกว้างของถนนในผังเมืองรวม กทม.ฉบับนี้
       ส่วนของบางพื้นที่ฝั่งธนบุรี มีนบุรี ลำลูกกา อาจทำได้เพียงสร้างบ้านเดี่ยวเท่านั้น หรือกรณีทาวน์เฮาส์แถวฝั่งธนฯ บางส่วน ชานเมืองตอนเหนือ บางส่วนของมีนบุรี คลองสามวา ฯลฯ ที่มีพื้นที่สีเหลือง ต้องสร้างบนพื้นที่ 20 ตารางวา จากเดิมที่ให้สร้างได้ 16 ตารางวา ราคาก็จะแพงขึ้น รวมถึงการกำหนดให้บ้านแฝดในพื้นที่ ย.2 ต้องมีขนาดแปลงที่ดินไม่น้อยกว่า 50 ตารางวา จากเดิม 35 ตารางวา ซึ่งในส่วนของสุวรรณภูมิถึงมีนบุรีมีทั้งซ้าย และขวา ประมาณกว่า 25,000 ไร่ และไม่สามารถสร้างคอนโดได้
     
       นอกจากนี้ยังส่งผลต่อพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ก่อนหน้านี้ทางจุฬาฯ ได้ว่าจ้างให้คนออกแบบพื้นที่ใช้งานทั้งหมดรวม 70 ล้านบาท ที่รวมถึงการจัดสรรเรื่อง คอนโด, ออฟฟิศ ฯลฯ แต่ผังเมืองรวม กทม.ใหม่ หากมีการกำหนดใช้ตามนั้น ก็จะส่งผลให้ไม่สามารถก่อสร้างออฟฟิศสูง 30 ชั้นได้ เพราะกำหนดให้ต้องมีความกว้างของถนน 30 เมตร ที่อยู่อาศัยสร้างไม่เกิน 9,999 ตารางเมตร ต้องถนนเกิน 16 เมตร แต่เดิมถนนจะอยู่ที่ 6-8 เมตร เท่านั้น ผศ.อัศวิน พิชญโยธิน ย้ำว่า ผังเมืองฉบับใหม่นี้ต้องดูในรายละเอียดแต่ละประเภทอีกครั้ง ซึ่งจุฬาฯ ได้ยื่นคำร้องไปแล้ว ต่างจากพื้นที่ใจกลางเมือง อาทิ สาทร สีลม สุขุมวิท ฯลฯ ที่ได้ร้องเรียนก่อนหน้านั้น และมีการแก้ไขเรื่องข้อกำหนดความกว้างของถนนลง จึงสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ และจะส่งผลให้ที่ดินใจกลางเมืองราคาสูงขึ้น
     
       “ประชาชนชั้นกลางจะซื้อทาวน์เฮาส์ หรือคอนโดในเมืองก็ลำบากขึ้น ส่วนของห้องเช่าก็สามารถขึ้นราคาได้ 30-50% เพราะว่าประชาชนไม่มีทางเลือก ในส่วนของเจ้าของที่ดินที่ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถนำไปสร้างอาคารได้เต็มที่แนะนำให้จำนองกับธนาคาร”
     
       อีกหนึ่งประเด็นที่ดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์แก่ประชาชน คือเรื่องของการสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า จากเดิมที่นับจุดศูนย์กลาง อันใหม่นับจากขอบชานชาลาจึงจะได้ประโยชน์มากขึ้นในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคอนโด แต่เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่า การเอื้อประโยชน์ที่อยู่ในรอบรัศมี 500 เมตร ถนนกว้างเพียง 6 เมตรก็พอ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อชานชาลานั้นเปิดใช้งานแล้วเท่านั้น ซึ่งต้องรอจนกว่าจะเปิด ไม่สามารถพัฒนาเพื่อรองรับได้ หากต้องการสร้างก่อนก็ต้องใช้กฎตามปกติ ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งต้องกว้างเกิน 30 เมตร
     
       เปิดพื้นที่ Flood way
     
     
       ในส่วนพื้นที่รับน้ำ หรือ Flood way นั้น ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้นำผลการศึกษาเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ ป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำ พร้อมการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล
     
       มาบูรณาการเข้าไปในผังเมืองรวมนำไปสู่การทำงานแบบบูรณาการของ 3 หน่วยงานภายในของ กทม. ทั้ง สำนักผังเมือง สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักการระบายน้ำ ซึ่งจะมีด้วยกัน 3 แผนผัง ดังนี้
     
       1. แผนผังแสดงที่โล่ง 5 ประเภทดังนี้ แบบแรก ที่โล่งเพื่อการนันทนาการและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม, พื้นที่โล่งเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณริมถนนและริมแม่น้ำและลำคลอง, ที่โล่งเพื่อการสงวนรักษาสภาพการระบายน้ำตามธรรมชาติ, ที่โล่งพักน้ำเพื่อการป้องกันน้ำท่วม และที่โล่งเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเล ซึ่งผังแสดงที่โล่งจะส่งเสริมให้รักษาสภาพแวดล้อมเพื่อการทำหน้าที่เป็นที่โล่งและที่รับน้ำของ กทม.อย่างสมบูรณ์ และไม่สนับสนุนให้พัฒนาด้านการก่อสร้างอาคาร
       2. แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นผังที่ไม่ส่งเสริมให้พัฒนาที่ดินอย่างเข้มข้นในบริเวณที่ถูกกำหนดเป็นที่โล่ง
       3. แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค เป็นแผนผังที่ว่าด้วยระบบคลองและระบบระบายน้ำ
     
       สำหรับพื้นที่ Flood way จะถูกกำหนดไว้ทั้งสองฝั่งของ กทม. เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบท และเกษตรกรรม เป็นพื้นที่โล่งให้มากที่สุด ก่อสร้างอาคารให้น้อยที่สุด เพื่อสนับสนุนการรับน้ำจากแนวเหนือสู่แนวใต้ และลงทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่
     
       ส่วนพื้นที่ใจกลางเมือง กระจายออกเป็นพื้นที่เล็กๆ ตามสวนสาธารณะ และบึงต่างๆ พื้นที่โล่งกำหนดไว้เป็นพื้นที่แก้มลิง หรือ Retention Area เพื่อรองรับการหน่วงน้ำก่อนระบายไปตามระบบการระบายน้ำ เช่น บึงหนองบอน, สวนเสรีไทย, บึงมักกะสัน, บึงพระราม 9, บึงโรงงานยาสูบ, บึงลำพังพวย (การเคหะแห่งชาติ)
     
       ขณะเดียวกันพื้นที่รับน้ำนั้นจะประกอบด้วย 1. ในฝั่งตะวันออกของ กทม. จะมีพื้นที่บางส่วนของเขตคลองสามวา เขตมีนบุรี และเขตลาดกระบัง เป็นที่โล่งขนาดใหญ่ 2. ในฝั่งตะวันตกตอนเหนือ ประกอบด้วยพื้นที่บางส่วนของเขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน และเขตบางแค เน้นการอยู่อาศัยแบบหนาแน่นน้อย 3. ในฝั่งตะวันตกทางตอนใต้ บริเวณเขตบางขุนเทียน บริเวณที่โล่งใช้พักน้ำ และที่โล่งเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเล เน้นการป้องกันน้ำท่วมและหน่วงน้ำ 4. พื้นที่แก้มลิง เป็นการจัดหาพื้นที่รับน้ำขนาดเล็ก กระจายในพื้นที่ใจกลางเมือง เพราะการจะหาพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อใช้หน่วงน้ำเป็นเรื่องยาก
     
       ในประเด็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่รับน้ำนั้น ผศ.อัศวิน พิชญโยธิน ระบุว่า พื้นที่โล่งที่กำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ เป็นทางน้ำไหล หรือ Flood way ผังใหม่กำหนดว่าห้ามถมที่ หากน้ำมาต้องท่วม ดังนั้น หากมีการก่อสร้างก็ไม่สามารถถมที่ให้สูงได้ หรือชาวบ้านที่อยู่เดิมก็ไม่สามารถถมเพื่อกันน้ำท่วมบ้านได้ แนะนำให้ชาวบ้านรีบถมที่ของตนก่อนที่ผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้
     
       กทม.เพิ่ม Flood way ยาก
     
     
       ส่วน เชตวัน อนันตสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่า การจะเพิ่มฟลัดเวย์ในพื้นที่ กทม.เป็นเรื่องยาก จะส่งผลกระทบต่อประชากรจำนวนมาก เพราะพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีจำกัด และมีความหนาแน่นมากอยู่แล้ว ทางผู้วางผังเห็นว่าควรคงพื้นที่และกำหนดการใช้แบบเดิมไว้ หรืออาจเพิ่มขึ้นนิดหน่อย และไปพัฒนาแม่น้ำ ลำคลอง ให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพแทน เชื่อว่าในกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนแม่น้ำ ลำคลองกว่า 200-300 คลอง หากได้รับการดูแลให้มีสภาพที่ดี ก็จะสามารถรับน้ำได้มากพอสมควร
     
       แต่หากมีปริมาณฝนตก หรือมีน้ำฝนแบบปี 2554 เชื่อว่าสามารถรองรับได้แน่นอน แต่ต้องดูการบริหารจัดการน้ำ การกั้นทางน้ำประกอบด้วย เพราะหากมีการกั้นทางน้ำ เมื่อเวลาน้ำมาจึงมีปริมาณมากและแรง แต่หากปล่อยไปตามธรรมชาติของทางน้ำ อาจมีการท่วมปริ่มๆ แต่ไม่เยอะมาก ไม่สูงมาก
     
       อีกหนึ่งแนวทางที่ส่งผลต่อการระบายน้ำ ซึ่งทางรัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ที่บุกรุกคูคลอง ควบคู่ขนานกันไป และอยู่ระหว่างการหาพื้นที่สร้างอาคารที่อยู่ของผู้บุกรุก ซึ่งวางไว้ว่าจะมีหลายพื้นที่ตามความเหมาะสม แต่จะไม่ไปไกล จะอยู่ในพื้นที่ที่สะดวกต่อการทำมาหากิน เดินทางสะดวกสบาย และคาดว่าจะอยู่ในรูปแบบของคอนโด หรืออาคารมากกว่า
     
       ทั้งนี้ การจัดพื้นที่ให้กับผู้ที่บุกรุกคูคลองจะเป็นการจัดระเบียบให้แก่ กทม.ซึ่งบางแม่น้ำลำคลองใน กทม. เป็นที่ท่องเที่ยวได้ หากมีการจัดการที่ดี สามารถเชื่อมต่อกันได้ และแก้ไขปัญหาการบุกรุก และแก้ปัญหาน้ำไม่ท่วมได้ด้วย
     
       “ส่วนของการทำฟลัดเวย์ในผัง กทม.ใหม่ยังคงพื้นที่เดิม เหมือนผังเดิมอยู่ เนื่องจาก กทม.ได้ดำเนินการวางผังเดินหน้าไปไกลแล้ว จะย้อนกลับมาอีกไม่ได้ เพราะเมื่อผ่านกรรมการผังเมืองแล้ว จะทำอะไรเพิ่มไม่ได้ นอกจากประชาชนจะยื่นคำร้องเข้ามา”
     
       ผังเมืองรวมทั้งประเทศต้องมีผัง Flood way
     
     
       รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุอีกว่า ผังเมืองรวมใหม่ของจังหวัดอื่นๆ ที่ยังไม่ได้จัดทำ จากนี้ไปจะต้องทำผังป้องกันน้ำท่วมขึ้นมาประกอบอีกผังหนึ่งด้วย ดังนั้นจะมี 1. แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นสีๆ 2. เป็นเรื่องของถนน 3. จะมีอีกแผ่นหนึ่งที่เกี่ยวกับแก้มลิง ฟลัดเวย์ โดยจะทำต่างจังหวัดก่อน ซึ่งขณะนี้จังหวัดพะเยาเสนอเข้ามา ทางกรมการผังเมืองให้กลับไปทำผังน้ำท่วมมาด้วย ซึ่งต่อไปจะมีเรื่องนี้ตลอด และในอนาคตเมื่อศึกษาลึกเข้าไปในพื้นที่ก็จะพัฒนาไปดูเรื่องอื่นๆ ตามความเหมาะสมในพื้นที่นั้นๆ อาทิ พื้นที่เสี่ยงภัยเรื่องดินถล่ม
     
       โดยเมื่อพัฒนา ศึกษาผังเมืองชัดเจน ลงรายละเอียดแต่ละพื้นที่ ภาพที่จะออกมาชัดเจน อย่างเรื่องการป้องกันน้ำท่วมที่ถูกต้องชัดเจนในผังจะบอกระดับดิน ที่ไหนไม่ควรมีโรงงานอุตสาหกรรม หรือบริเวณที่ตั้งโรงงานอยู่เดิมจะบอกว่าเหมาะสมที่จะตั้งหรือไม่ หากไม่เหมาะเจ้าของจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง ว่าจะยอมรับสภาพ หรือย้ายออกจากพื้นที่
     
       “กทม.ถือว่าหนาแน่นมาก การจะขยายถนนสักเส้นก็ลำบาก แม้จะใช้การเวนคืนที่ดินได้ก็ตาม ในส่วนของการบริหารจัดการก็จะยากขึ้น สาธารณูปโภคก็ลำบาก หากปล่อยไปเรื่อยๆ จะประสบปัญหาน้ำประปาขาด ปัญหาน้ำท่วมก็จะแก้ไม่ตก จึงควรเตรียมหาเมืองใหม่ เหมือนอย่างที่ประเทศอื่นก็ทำกันแล้ว ด้วยเหตุที่ว่าเมืองหลวงแน่นไปหมด และได้มองการณ์ไกลเพื่อรองรับอนาคต อาทิ เกาหลีใต้, พม่า, มาเลเซีย”
     
       รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ย้ำว่า การประกาศผังเมืองรวมใหม่ในทุกๆ พื้นที่นั้น สิ่งสำคัญคือ เจ้าของพื้นที่ และผู้ที่ต้องการปลูกสร้าง ต้องพิจารณา 2 ประเด็นหลัก คือ 1. ต้องดูผังเมืองก่อนว่าให้ปลูกสร้างอะไรได้บ้าง 2. ดูกฎหมายควบคุมอาคารว่าถ้าสร้างได้ ต้องมีพื้นที่ถนนกว้างเท่าไร สามารถสร้างอาคารสูงขนาดไหน แต่หากผังเมืองห้ามสร้างก็ไม่ต้องไปดูต่อ เพราะทั้ง 2 ส่วนนี้จะสอดคล้องกัน
     
       ขณะเดียวกันเชื่อว่าผัง กทม.ใหม่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่สังคมโดยรวม เช่น ในรัศมีใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้า อนุญาตให้สร้างอาคารสูงเพื่อที่อยู่อาศัยได้ เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกสบายในการเดินทาง เป็นต้น

ขอบคุณเรื่อง: Manageronline 24.8.55
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000104047 ดูภาพผังต่างๆ

No comments:

Post a Comment

ติดต่อ ได้ที่ กล่องความเห็น
welcome contact at this box